ระบบบริหารจัดการองค์ความรู้กองทุนพัฒนาไฟฟ้า Power Development Fund

หลักการกำหนดพื้นที่ประกาศ

หลักการกำหนดพื้นที่ประกาศ
 
ด้วย  “ระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า พ.ศ. 2553” (ระเบียบ ม. 97(3)) กำหนดให้ สกพ. โดยความเห็นชอบของ กกพ. เป็นผู้ออกประกาศกำหนดพื้นที่ประกาศ  ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสิทธิได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า  โดยให้ครอบคลุมตำบลโดยรอบโรงไฟฟ้าภายในรัศมี 1  3 หรือ  5 กิโลเมตรตามปริมาณการผลิตไฟฟ้าในรอบปีนั้น  

ในการกำหนดพื้นที่ประกาศดังกล่าว  จำเป็นต้องมีการกำหนดจุดอ้างอิงจุดศูนย์กลางพื้นที่ประกาศ  เพื่อให้การดำเนินการกำหนดจุดอ้างอิงดังกล่าวเป็นไปอย่างมีแบบแผนและมีมาตรฐานเดียวกัน สกพ. จึงได้กำหนดแนวทางในการดำเนินงานดังนี้

 

การกำหนดจุดพิกัดอ้างอิงพื้นที่ประกาศ


เนื่องจากสภาพพื้นที่และแผนผังของโรงไฟฟ้าที่มีความแตกต่างกัน ในการกำหนดจุดอ้างอิงจุดศูนย์กลางพื้นที่ประกาศให้คำนึงถึงจุดศูนย์กลางในการปล่อยมลภาวะหรือสร้างผลกระทบต่อชุมชนรอบโรงไฟฟ้าเป็นสำคัญ  โดยให้กำหนดจุดพิกัดอ้างอิงพื้นที่ประกาศให้อยู่ในขอบเขตโรงไฟฟ้า  ในบริเวณที่ไม่กีดขวางการปฏิบัติงานของโรงไฟฟ้า สำหรับโรงไฟฟ้าแต่ละประเภทดังนี้ 

    • กรณีโรงไฟฟ้าที่มีปล่องระบายความร้อน/ไอเสีย :  
      • มีปล่องระบายความร้อน/ไอเสียเพียงปล่องเดียว : ให้กำหนดจุดพิกัดบริเวณฐานขอบปล่อง โดยมีระยะห่างไม่เกิน 5 เมตรจากฐานขอบปล่อง   
      • มีปล่องระบายความร้อน/ไอเสียหลายปล่อง : ให้กำหนดจุดพิกัดบริเวณจุดกึ่งกลางของการเรียงตัวหรือการกระจายตัวของปล่องที่มีอยู่ทั้งหมด  
    • กรณีโรงไฟฟ้าไม่มีปล่องระบายความร้อน/ไอเสีย 
      • โรงไฟฟ้าพลังน้ำ  ให้กำหนดจุดพิกัดภายในระยะ 10 เมตรจากด้านใดด้านหนึ่งของอาคารผลิตไฟฟ้า
      • โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์  ให้กำหนดจุดพิกัดภายในระยะ 10 เมตรจากด้านใดด้านหนึ่งของอาคารควบคุมการผลิตกระแสไฟฟ้า 
      • โรงไฟฟ้าพลังงานลม  กรณีมีกังหันลมในการผลิตไฟฟ้าเพียงตัวเดียว ให้กำหนดจุดพิกัดโดยมีระยะห่างไม่เกิน 5 เมตรจากบริเวณฐานของกังหัน  หากมีกังหันลมในการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 1 ตัว หรือ Wind Farm  ให้กำหนดจุดพิกัดในบริเวณที่ใกล้เคียงกับจุดกึ่งกลางของการเรียงตัวหรือการกระจายตัวของกังหันลมที่มีอยู่ทั้งหมด 
      • โรงไฟฟ้าอื่นๆ ให้กำหนดจุดพิกัดภายในระยะ 10 เมตรจากด้านใดด้านหนึ่งของอาคารผลิตไฟฟ้า 

 


การปักหมุดหลักฐาน


ให้ปักหมุดหลักฐาน ณ จุดที่กำหนดเป็นจุดพิกัดอ้างอิงพื้นที่ประกาศตามแนวทางในข้อ 1 โดยมีรายละเอียดดังนี้  

  • หมุดหลักฐาน  ให้ใช้ท่อเหล็ก (เหล็กแป๊บน้ำ) มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้ว ความยาว 80 เซนติเมตร 
  • การฝังหมุดหลักฐาน  ให้ฝังหมุดหลักฐานในระดับความลึกประมาณ 40 เซนติเมตร โดยให้โผล่จากผิวดินประมาณ 40 เซนติเมตร
  • ปลายด้านบนหมุดหลักฐาน ให้อัดปูนซีเมนต์และฝังหมุดหรือตะปูที่บริเวณจุดศูนย์กลางของปลายหมุด 
  • ให้ทำเครื่องหมาย “สกพ.” และ “ห้ามเคลื่อนย้าย” (แกะแบบพ่นสี) ที่บริเวณท่อโดยใช้ขนาดตัวอักษรและรูปแบบที่ สกพ. กำหนด 









การจัดทำแผนผังหมุดหลักฐาน


การจัดทำแผนผังจุดพิกัดจุดอ้างอิงพื้นที่ประกาศให้เขียนคำอธิบายระบุตำแหน่งของหมุดหลักฐาน  โดยบอกระยะทางระหว่างหมุดหลักฐานกับจุดอ้างอิงที่เป็นสิ่งปลูกสร้างถาวรหรือวัตถุที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้โดยง่ายในบริเวณใกล้เคียงกับจุดปักหมุด เช่น ปล่อง อาคารสำนักงาน ประตูรั้วทางเข้า เสาธง ฯลฯ ในแบบฟอร์มคำอธิบายตำแหน่งปักหมุดหลักฐาน

 
สงวนสิทธิ์ 2559 © ฝ่ายบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)
319 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 20 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์ : 0 2207 3599 ต่อ 344, โทรสาร : 0 2207 3572
สายด่วน : 1204, อีเมล์ : pdf@erc.or.th