ระบบบริหารจัดการองค์ความรู้กองทุนพัฒนาไฟฟ้า Power Development Fund
เกี่ยวกับกองทุน

การดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล

       ด้วย พรบ. กำหนดให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. มีอำนาจหน้าที่ในการออกระเบียบการนำส่งเงินและการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าให้ สอดคล้องกับนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) รวมทั้งการออกระเบียบหรือประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อการบริหารและการจัดการกองทุนพัฒนาไฟฟ้าให้มีระบบบริหารจัดการที่ดี มีธรรมาภิบาล โปร่งใส และตรวจสอบได้ ซึ่งการดำเนินงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้าจะต้องถูกตรวจสอบโดย สตง. และต้องมีการรายงานผลการดำเนินงานประจำปีเสนอต่อ กพช. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา รวมทั้งต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน


               1. การนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า (Link ไปยังมติ กพช.)
               2. การใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า (Link ไปยังมติ กพช.)

การดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในภาพรวม
1. ความเป็นมา

     1.1 กองทุนพัฒนาไฟฟ้า จัดตั้งขึ้นภายใต้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 93 ซึ่งมีแหล่งที่มาของเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ดังนี้ (1) เงินที่ได้รับจากผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า (2) เงินค่าปรับจากผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า (3) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาค และ (4) ดอกหรือผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน โดยสำนักงาน กกพ. มีหน้าที่เป็นผู้รับเงิน จ่ายเงิน เก็บรักษา และบริหารจัดการเงินกองทุน แยกออกจากงบประมาณของสำนักงานฯ และให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนด ภายใต้กรอบนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) รวมทั้ง ได้รับการตรวจสอบโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน 

 

    1.2 ตามมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว กำหนดวัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าจำนวน 6 วัตถุประสงค์ ดังนี้ (1) ชดเชยและอุดหนุนผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า ซึ่งให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส หรือเพื่อมีการให้บริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง (2) ชดเชยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้นจากการที่ผู้รับใบอนุญาตที่มีศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในการผลิตไฟฟ้า (3) การพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า (4) ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีที่ใช้ประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย (5) ส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า และ (6) เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุน


2. การดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

        กกพ. ได้ออกระเบียบว่าด้วยกองทุนพัฒนาไฟฟ้า พ.ศ. 2553 เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดการบริหาร การจัดเก็บเงินจากผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า และการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และภายใต้กรอบนโยบายของ กพช. โดยระเบียบดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2553 เป็นต้นมา ทั้งนี้ สามารถสรุปความก้าวหน้าในการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าจนถึงปัจจุบัน ได้ดังนี้


    2.1 การชดเชยและอุดหนุนผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า ซึ่งให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส หรือเพื่อมีการให้บริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง (ตามมาตรา 97(1)) : พิจารณาการดำเนินงานโดยจำแนกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

           2.1.1 การชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้า :  เพื่อให้มีการชดเชยแก่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าในการให้บริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง โดย กกพ. ได้มีคำสั่งเกี่ยวกับการนำส่งและเบิกจ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97(1) เพื่อการชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้า สำหรับการให้บริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง) และสำนักงาน กกพ. ได้ดำเนินการเก็บเงินจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เพื่อชดเชยรายได้ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันมีการชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้า รวมทั้งสิ้นประมาณ 49,091 ล้านบาท หรือเฉลี่ยประมาณปีละ 13,000 ล้านบาท

 

            2.1.2 การอุดหนุนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส : เพื่อเป็นการอุดหนุนให้แก่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า ซึ่งได้ให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส โดย กกพ. ได้มีคำสั่งเกี่ยวกับการนำส่งและเบิกจ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97(1) ของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจำหน่ายไฟฟ้า สำหรับการอุดหนุนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส และ สำนักงาน กกพ. ได้ดำเนินการเก็บเงิน และอุดหนุนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาสตามนโยบายรัฐบาล จากผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ 4 แห่ง ประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัตหีบ และผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าภาคเอกชน ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 100 ราย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 – เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2555 (ไฟฟรี 90 หน่วย) และเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 - ปัจจุบัน (ไฟฟรี 50 หน่วย) จนถึงปัจจุบันมีการอุดหนุนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาสให้ใช้ไฟฟรี รวมทั้งสิ้นประมาณ 17,457 ล้านบาท หรือเฉลี่ยประมาณปีละกว่า 4,000 ล้านบาท


       ทั้งนี้ สามารถสรุปการชดเชยและอุดหนุนผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า ซึ่งให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส หรือเพื่อมีการให้บริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง ตามมาตรา 97(1) ได้ดังแสดงในตารางดังนี้

ตารางที่ 1 แสดงการชดเชยและอุดหนุนผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า ซึ่งได้ให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส หรือเพื่อมีการให้บริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง ในระหว่างปี พ.ศ. 2554 - 2558


    2.2 การพัฒนา หรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า (ตามมาตรา 97(3)) : 

       2.2.1 การออกระเบียบ และประกาศ : กกพ. ได้ดำเนินการออกระเบียบ และประกาศ 
ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อกิจการตามมาตรา 97 (3) จำนวน 15 ฉบับ จำแนกเป็น ระเบียบ จำนวน 4 ฉบับ และประกาศ จำนวน 11 ฉบับ ดังนี้

(1) ระเบียบ จำนวน 4 ฉบับ ดังนี้
        (2.1) ประกาศเรื่อง การนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าสำหรับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าประเภทใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2553 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 
พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา
        (2.2) ประกาศเรื่อง การสรรหาคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า พ.ศ. 2554 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา
        (2.3) ประกาศเรื่อง การสรรหาคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าตำบล พ.ศ. 2554 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา
        (2.4) ประกาศเรื่อง ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติในการสรรหาคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า และคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าตำบล พ.ศ. 2554 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา
        (2.5) ประกาศเรื่อง การสรรหาคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าพ.ศ. 2555 กรณีที่จำนวนตำบลในพื้นที่ประกาศ มีมากกว่าจำนวนผู้แทนภาคประชาชน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา
        (2.6) ประกาศเรื่อง ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสำหรับการดำเนินงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศ พ.ศ. 2555 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา
        (2.7) ประกาศเรื่อง ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสำหรับการดำเนินงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา
        (2.8) ประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์ในการจัดสรรเงินและการพิจารณาโครงการชุมชนที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97(3) พ.ศ. 2555 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา
        (2.9) ประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์ในการจัดสรรเงินและการพิจารณาโครงการชุมชนที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97(3) (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2555
        (2.10) ประกาศเรื่อง การเบิกค่าใช้จ่ายการฝึกอบรม สัมมนา ศึกษาดูงานในต่างประเทศสำหรับการดำเนินงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า พ.ศ. 2557 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา
        (2.11) ประกาศเรื่อง การเบิกค่าใช้จ่ายการฝึกอบรม สัมมนา ศึกษาดูงานในต่างประเทศ สำหรับการดำเนินงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา

     นอกจากนี้ ยังมีคำวินิจฉัยประธาน กกพ. จำนวน 4 ฉบับ และคำสั่งสำนักงาน กกพ. จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อกิจการตามมาตรา 97(3)      

     2.2.2 การนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อกิจการตามมาตรา 97(3) : สำนักงาน กกพ. ได้ดำเนินการเก็บเงินจากผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า ในช่วงระหว่างการผลิตไฟฟ้า นับตั้งแต่วันที่เริ่มมีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date : COD) ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา โดยเงินที่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้านำส่งมาจากผู้ใช้ไฟฟ้า โดยส่งผ่านค่าไฟฟ้าผันแปร (Fuel Adjustment Charge (at the given time) : Ft) ซึ่งโรงไฟฟ้าจะเรียกเก็บเงินจากค่าไฟฟ้าของประชาชน และนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตในแต่ละเดือนคูณอัตราตามชนิดเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ดังนี้ 

ตารางที่ 2 แสดงอัตราการเก็บเงินจากผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า ในช่วงระหว่างการผลิตไฟฟ้า นำส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า จำแนกตามชนิดเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า


         สำหรับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้ารายใหม่ ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าในช่วงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในอัตรา 50,000 บาทต่อเมกะวัตต์ต่อปี โดยปัจจุบันมีผู้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าที่ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อกิจการตามมาตรา 97(3) จำนวนประมาณ 400 ราย รวมเป็นเงินปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท

       2.2.3 การประกาศกำหนดพื้นที่ประกาศ และการเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (คพรฟ.) สำนักงาน กกพ. โดยความเห็นชอบของ กกพ. ได้ออกประกาศกำหนดพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุนเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า และจำนวน คพรฟ. แล้วจำนวน 293 กองทุน จำแนกเป็นกองทุนประเภท ก จำนวน 12 กองทุน กองทุนประเภท ข จำนวน 55 กองทุน และกองทุนประเภท ค จำนวน 226 กองทุน รวมทั้ง มีการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการสู่ชุมชน โดยมี คพรฟ. และคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าตำบล (คพรต.) ทำหน้าที่บริหารงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศ ซึ่งจะแตกต่างกันตามประเภทกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ดังนี้


ตารางที่ 3  แสดงการจำแนกประเภทกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศ ตามปริมาณเงินที่ได้รับการจัดสรรต่อปี จำนวนคณะกรรมการกองทุนฯ และวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการกองทุนฯ


              ปัจจุบัน กกพ. ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง คพรฟ. แล้ว จำนวน 67 กองทุน จำแนกเป็น กองทุนประเภท ก จำนวน 12 กองทุน และกองทุนประเภท ข จำนวน 55 กองทุน 

      2.2.4 การจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อการพัฒนา หรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า (ตามมาตรา 97(3))

          (1) การดำเนินงานของกองทุนประเภท ก และประเภท ข : สำนักงาน กกพ. ได้จัดสรรเงินจากผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าในอัตราร้อยละ 95 ให้กับกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศ สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการและดำเนินโครงการชุมชน ซึ่งกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศ จะดำเนินการจัดทำประชาคม เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าเสนอโครงการชุมชน ตามกรอบหลักเกณฑ์ที่ กกพ. กำหนด 11 แผนงาน เพื่อขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ดังนี้ (1) การส่งเสริมคุณภาพชีวิต สุขภาพ และสุขภาวะ (2) การพัฒนาอาชีพ (3) การพัฒนาการเกษตร (4) การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน (5)การพัฒนาคุณภาพชีวิต (6) การพัฒนาการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่น (7) การพัฒนาชุมชน (8) การอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม (9) การใช้จ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากเดือดร้อน (10) การพัฒนาศักยภาพของผู้ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนพัฒนาไฟฟ้า (11) โครงการและแผนงานอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ประกาศ ตามที่ กกพ. เห็นชอบ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 - 2557  กกพ. ได้พิจารณาอนุมัติงบประมาณตามแผนงานประจำปีให้แก่กองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศ ประเภท ก และประเภท ข จำนวน 53 กองทุน รวมโครงการกว่า 16,000 โครงการ คิดเป็นเงินรวมกว่า 5,300 ล้านบาท โดยสรุปได้ตามตารางดังนี้


ตารางที่ 4  แสดงการจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศ ตามแผนงานประจำปี พ.ศ. 2555 - 2560 

ผลการอนุมัติแผนงานประจำปีของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าประเภท ก และ ข

ปีงบประมาณ แผนงานประจำปี ที่ กกพ. อนุมัติ
 จำนวนกองทุน จำนวนโครงการ  บริหารจัดการ
(ล้านบาท) 
โครงการชุมชน
(ล้านบาท) 
รวมงบประมาณทั้งสิ้น
(ล้านบาท) 
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 37 4,524 141.45 1,539.55 1,680.99
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 50 5,366 202.31 1,402.39 1,604.70
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 52 6,398 248.77 1,806.63 2,055.40
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 55 6,109 192.70 2,083.99 2,276.69
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 67 4,691 235.46 2,670.74 2,906.20
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 67 5,548 236.29 1,982.69 2,218.98
 รวม  34,436 1,259.87
11,485.99 
12,745.86 
* ข้อมูลรวบรวม ณ วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 25660



ผลการอนุมัติแผนงานประจำปีของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าประเภท ค 

ปีงบประมาณ จำนวน
 กองทุน  โครงการ งบประมาณ 
(ล้านบาท) 
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 95
 232 42.95
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 221  417 82
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560
(อยู่ระหว่างดำเนินการ)
 21  45  4.63
รวม
  694  129.58
* ข้อมูลรวบรวม ณ วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2560



    สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 กกพ. ได้พิจารณาอนุมัติกรอบงบประมาณในการจัดทำแผนงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยจัดสรรเงินให้แก่กองทุนประเภท ก และประเภท ข เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 2,967.10 ล้านบาท  จำแนกเป็น ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการจำนวน 303.68 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการชุมชน จำนวน 2,663.42 ล้านบาท

 

       (2) การดำเนินงานของกองทุนประเภท ค : สำนักงาน กกพ. ได้ออกประกาศคู่มือการดำเนินโครงการชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าประเภท ค เพื่อใช้เป็นคู่มือในการคัดเลือกผู้แทนจาก อบต./เทศบาล จำนวนไม่เกิน 3 คน เพื่อทำหน้าที่บริหารเงินกองทุนในพื้นที่ โดยเป็นผู้พิจารณาอนุมัติโครงการชุมชน ดำเนินโครงการชุมชน และติดตามผลการดำเนินโครงการชุมชน (รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบวาระที่ 2.2.6) ซึ่งอยู่ระหว่างการนำเสนอ กกพ. เพื่อพิจารณาแต่งตั้งจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ สำนักงาน กกพ. ได้นำเสนอ กกพ. เพื่อพิจารณาจัดสรรเงินจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อกิจการตามมาตรา 97(6) ให้กองทุนพัฒนาไฟฟ้าประเภท ค ที่มีงบประมาณน้อย ไม่เพียงพอต่อการดำเนินงาน โดยมีวงเงินขั้นต่ำจำนวน 1 แสนบาท โดยคาดว่าจะสามารถจัดสรรเงินเพื่อพัฒนาชุมชนในพื้นที่กองทุนประเภท ค ได้อย่างเป็นรูปธรรมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 นี้ โดยสามารถสรุปการจัดสรรเงินได้ดังแสดงในตารางดังนี้


ตารางที่ 5 แสดงการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อกิจการตามมาตรา 97(6) ให้กองทุนพัฒนาไฟฟ้าประเภท ค


     2.3 การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย (มาตรา 97(4)) และการส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า (มาตรา 97(5)): เพื่อให้มีการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ตามมาตรา 97(4) และส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า ตามมาตรา 97(5) ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) สำนักงาน กกพ. ได้ยกร่างประกาศการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อกิจการตามมาตรา 97(4) และ 97(5) โดยให้ผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้านำส่งเงินเข้ากองทุนฯ ในอัตรา 0.005 บาทต่อหน่วย และ 0.002 บาทต่อหน่วย ตามลำดับ ทั้งนี้ ประมาณการว่าจะมีเงินนำส่งตามมาตรา 97(4) ประมาณปีละกว่า 900 ล้านบาท และ ตามมาตรา 97(5) ประมาณปีละกว่า 300 ล้านบาท ซึ่ง กกพ. ได้เห็นชอบในหลักการร่างประกาศดังกล่าว และสำนักงาน กกพ. ได้นำร่างประกาศฯ ไปรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว และปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงร่างประกาศฯ ให้มีความเหมาะสม เพื่อนำเสนอ กกพ. พิจารณาให้ความเห็นชอบ และจะนำเสนอประธาน กกพ. เพื่อพิจารณาลงนามให้มีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปีงบประมาณ 2558 ต่อไป

 

     2.4 การบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้า (มาตรา 97(6)) : สำนักงาน กกพ. ได้จัดสรรเงินจากผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า ในอัตราร้อยละ 5 และดอกผลจากเงินชดเชยรายได้ ตลอดจน ดอกผลจากเงินอุดหนุนผู้ใช้ไฟด้อยโอกาส เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้า โดยมีงบประมาณตามมาตรา 97(6) เฉลี่ยปีละประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งสำนักงาน กกพ. จะจัดทำแผนการใช้จ่ายเงินนำเสนอ กกพ. พิจารณาอนุมัติเป็นรายปี เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในด้านต่างๆ จำนวน 3 ด้าน ดังนี้ (1) ค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุน (2) สำรองไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน เพื่อเยียวยา หรือบรรเทาความเสียหายในเบื้องต้นจากผลกระทบที่มีสาเหตุจากโรงไฟฟ้า และ (3) อุดหนุนให้กับการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าที่ได้รับการจัดสรรเงินจำนวนน้อยไม่เพียงพอต่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น (กองทุนประเภท ค ที่ได้รับงบประมาณจัดสรรน้อยกว่า 5 แสนบาทต่อปี) 
 
สงวนสิทธิ์ 2559 © ฝ่ายบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)
319 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 20 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์ : 0 2207 3599 ต่อ 344, โทรสาร : 0 2207 3572
สายด่วน : 1204, อีเมล์ : pdf@erc.or.th